วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

หน้าหลัก

ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ blog แห่งสาระการเรียนรู้ ขอให้ทุกท่านเพลิดเพลินไปกับการค้นหาข้อมูล และนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์.......นะคะ

 



วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ตัวอย่างธุรกิจอัจฉริยะ

กลุ่มธุรกิจอุดมศึกษา (Higher Education)
       กลุ่มนี้จะมอบทางเลือกที่คุ้มค่าการลงทุนทั้งสถานศึกษา, บุคลากรและผู้เรียนมามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้สูงสุด ปัจจุบันสถานศึกษาจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการงบประมาณ แผนการปฏิบัติงาน กิจกรรมการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ โซลูชั่นระบบธุรกิจอัจฉริยะที่เราพัฒนาขึ้นจะช่วยให้ผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษาและบุคลากรของสถาบันได้รับประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ เพื่อช่วยในการตัดสินใจอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างแนวทางการใช้งาน
  • ประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงานขององค์กรและบุคลากรด้วย KPI dashboard
  • ใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามผลการลงทะเบียนเรียนและแนวโน้มต่างๆเพื่อสามารถวางแผนทรัพยากรที่ต้องใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เป็นเครื่องมือในการติดตามการใช้งบประมาณ สถิติและรูปแบบการสนับสนุนทรัพย์ให้กับองค์กร
  • พัฒนา ระบบบริหารจัดการองค์ความรู้ของสถาบัน เพื่อให้บุคลากรและนักศึกษาได้ใช้เป็นระบบจัดเก็บและแบ่งปันองค์ความรู้

บริษัท ทรูมูฟ จำกัด มหาชน
 
      ได้มีการใช้ระบบธุรกิจอัจฉริยะในการทำธุรกิจเช่น การติดต่อสื่อสารบริการลูกค้า การจัดซื้อเพ็กเก็จของลูกค้าที่ใช้ในระบบออนไลน์ และมีการวิเคราะห์ยอดการขายสินค้าหรือแพ็กเกจ การวิเคราะห์กำไรและรายได้ต่างๆของบริษัท วิเคราะห์แผนการตลาดต่างๆของบริษัทวิเคราะห์การเป็นไปของตลาดแวดล้อมอีกด้วย


บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน)
        CAT Telecom ได้เล็งเห็นความสำคัญของการทำธุรกิจอัจฉริยะ ซึ่งกำลังกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในปัจจุบัน และช่วยให้สินค้าและบริการของ CAT Telecom สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด จึงได้ว่าจ้าง บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IRCP) และ บริษัท แซส ซอฟต์แวร์ (ประเทศไทย) จำกัด (SAS) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบคลังข้อมูล/เหมืองข้อมูล (Data Warehouse/Data Mining) โดยได้เริ่มโครงการฯ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีศูนย์กลางในการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศของ CAT Telecom ทั้งข้อมูลจากแหล่งภายในและภายนอกองค์กร สนับสนุนการทำงานทางด้านการวิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอข้อมูลและการจัดทำรายงานข้อมูลสารสนเทศเพื่อใช้ในการบริหารจัดการและการตัดสินใจ โดยมุ่งเน้นให้ระบบมีการทำงาน/ประมวลผลแบบอัตโนมัติมากที่สุด

        คลังข้อมูล คือ หลักการหรือวิธีการในการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งรวมถึงฐานข้อมูลระดับปฏิบัติการ (Operational Databases) จากทุกระบบงานภายในองค์กรที่อาจอยู่อย่างกระจัดกระจายและมีรูปแบบหลากหลาย โดยนำมาปรับให้เป็นฐานข้อมูลรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ทั้งองค์กรในการเรียกดูหรือสอบถามข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ตาราง รายงาน กราฟ ฯลฯ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป รวมทั้งยังใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับระบบสารสนเทศต่าง ๆ เช่น ระบบสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหาร (Decision Support System; DSS) ระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer Relationship Management; CRM) เป็นต้น

        นอกจากนี้ ยังสามารถนำข้อมูลจากคลังข้อมูลเข้าสู่กระบวนการของการทำเหมืองข้อมูล หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การค้นหาความรู้ในฐานข้อมูล (Knowledge Discovery in Databases; KDD) ซึ่งก็คือเทคนิคการค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสกัดเอาความรู้ที่ซ่อนอยู่ในฐานข้อมูลขนาดใหญ่และซับซ้อนดังกล่าว เพื่อให้ได้รูปแบบและความสัมพันธ์ (Patterns and Relationships) และกฎ (Rules) ที่มีความหมายใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ วางแผนและคาดการณ์การดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ซึ่งสำหรับโครงการพัฒนา ระบบคลังข้อมูล/เหมืองข้อมูลของ CAT Telecom นั้น ครอบคลุมการดำเนินงาน 4 ด้าน ดังนี้
  1. การวิเคราะห์การใช้งานเครือข่าย (Network Usage Analysis): วิเคราะห์การใช้งานและการใช้ ประโยชน์เครือข่าย คุณภาพการให้บริการและสมรรถภาพของเครือข่าย รวมทั้งการจัดการความผิดพลาดของเครือข่ายสื่อสัญญาณ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนดำเนินงานภายในองค์กรตลอดจนปรับปรุงคุณภาพการให้บริการแก่ลูกค้า
  2. การวิเคราะห์และพยากรณ์ด้านลูกค้าและการตลาด (Customer and Marketing): วิเคราะห์ประเมินผล และติดตามงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารลูกค้าและการตลาด เพื่อให้สามารถวางกลยุทธ์ในการนำเสนอสินค้า/บริการ ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและการให้บริการลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
  3. การวิเคราะห์ด้านการเงิน (Financial Analysis): วิเคราะห์ผลการดำเนินงานในลักษณะ What-if Analysis ฐานะ -การเงิน สัดส่วนและแนวโน้มของรายได้จากบริการต่างๆ และค่าใช้จ่ายเผยแพร่และส่งเสริมการตลาด รวมทั้งอัตราส่วนทางการเงินที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้องค์กรสามารถวางกลยุทธ์และบริหารจัดการด้านการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. การวิเคราะห์ข้อมูลการประเมินผลองค์กร (Balanced Scorecard): ประเมินผลและวิเคราะห์ประสิทธิภาพขององค์กรโดยรวมตั้งแต่ระดับภาพรวมองค์กรจนถึงระดับส่วนงาน รวมทั้งสร้างกระบวนการประเมินผลโดยเชื่อมโยงกับการกำหนดผลตอบแทน ดัชนีชี้วัดผลการปฏิบัติงาน (Key Performance Indicator ; KPI) และระบบบริหารความเสี่ยงขององค์กร เพื่อนำไปใช้ประกอบการวิเคราะห์และการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์

วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การจัดการความรู้ (อังกฤษ: Knowledge management - KM)

การจัดการความรู้ (อังกฤษ: Knowledge management - KM) คือ การรวบรวม สร้าง จัดระเบียบ แลกเปลี่ยน และประยุกต์ใช้ความรู้ในองค์กร โดยพัฒนาระบบจาก ข้อมูล ไปสู่ สารสนเทศ เพื่อให้เกิด ความรู้ และ ปัญญา ในที่สุด
การจัดการความรู้ประกอบไปด้วยชุดของการปฏิบัติงานที่ถูกใช้โดยองค์กรต่างๆ เพื่อที่จะระบุ สร้าง แสดงและกระจายความรู้ เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้และการเรียนรู้ภายในองค์กร อันนำไปสู่การจัดการสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการธุรกิจที่ดี องค์กรขนาดใหญ่โดยส่วนมากจะมีการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการจัดการองค์ความรู้ โดยมักจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศหรือแผนกการจัดการทรัพยากรมนุษย์
รูปแบบการจัดการองค์ความรู้โดยปกติจะถูกจัดให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์กรและประสงค์ที่จะได้ผลลัพธ์เฉพาะด้าน เช่น เพื่อแบ่งปันภูมิปัญญา,เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน, เพื่อความได้เปรียบทางการแข่งขัน, หรือเพื่อเพิ่มระดับนวัตกรรมให้สูงขึ้น

ใครนิยาม
ปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Economy – KBE) งานต่างๆ จำเป็นต้องใช้ความรู้มาสร้างผลผลิตให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น การจัดการความรู้เป็นคำกว้างๆ ที่มีความหมายครอบคลุมเทคนิค กลไกต่างๆ มากมาย เพื่อสนับสนุนให้การทำงานของแรงงานความรู้ (Knowledge Worker) มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กลไกดังกล่าวได้แก่ การรวบรวมความรู้ที่กระจัดกระจายอยู่ที่ต่างๆ มารวมไว้ที่เดียวกัน การสร้างบรรยากาศให้คนคิดค้น เรียนรู้ สร้างความรู้ใหม่ๆ ขึ้น การจัดระเบียบความรู้ในเอกสาร และทำสมุดหน้าเหลืองรวบรวมรายชื่อผู้มีความรู้ในด้านต่างๆ และที่สำคัญที่สุด คือการสร้างช่องทาง และเงื่อนไขให้คนเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน เพื่อนำไปใช้พัฒนางานของตนให้สัมฤทธิ์ผล
ประเภทของความรู้
ความรู้สามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้สองประเภท คือ ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) และความรู้แฝงเร้น หรือความรู้แบบฝังลึก (Tacit Knowledge) ความรู้ชัดแจ้งคือความรู้ที่เขียนอธิบายออกมาเป็นตัวอักษร เช่น คู่มือปฏิบัติงาน หนังสือ ตำรา เว็บไซต์ Blog ฯลฯ ส่วนความรู้แฝงเร้นคือความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคน ไม่ได้ถอดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือบางครั้งก็ไม่สามารถถอดเป็นลายลักษณ์อักษรได้ ความรู้ที่สำคัญส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นความรู้แฝงเร้น อยู่ในคนทำงาน และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง จึงต้องอาศัยกลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้คนได้พบกัน สร้างความไว้วางใจกัน และถ่ายทอดความรู้ระหว่างกันและกัน
ความรู้แบบฝังลึก
ความรู้แบบฝังลึก (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่ไม่สามารถอธิบายโดยใช้คำพูดได้ มีรากฐานมาจากการกระทำและประสบการณ์ มีลักษณะเป็นความเชื่อ ทักษะ และเป็นอัตวิสัย (Subjective) ต้องการการฝึกฝนเพื่อให้เกิดความชำนาญ มีลักษณะเป็นเรื่องส่วนบุคคล มีบริบทเฉพาะ (Context-specific) ทำให้เป็นทางการและสื่อสารยาก เช่น วิจารณญาณ ความลับทางการค้า วัฒนธรรมองค์กร ทักษะ ความเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ การเรียนรู้ขององค์กร ความสามารถในการชิมรสไวน์ หรือกระทั่งทักษะในการสังเกตเปลวควันจากปล่องโรงงานว่ามีปัญหาในกระบวนการผลิตหรือไม่
ความรู้ชัดแจ้ง
ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เป็นความรู้ที่รวบรวมได้ง่าย จัดระบบและถ่ายโอนโดยใช้วิธีการดิจิทัล มีลักษณะเป็นวัตถุดิบ (Objective) เป็นทฤษฏี สามารถแปลงเป็นรหัสในการถ่ายทอดโดยวิธีการที่เป็นทางการ ไม่จำเป็นต้องอาศัยการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อถ่ายทอดความรู้ เช่น นโยบายขององค์กร กระบวนการทำงาน ซอฟต์แวร์ เอกสาร และกลยุทธ์ เป้าหมายและความสามารถขององค์กร
ความรู้ยิ่งมีลักษณะไม่ชัดแจ้งมากเท่าไร การถ่ายโอนความรู้ยิ่งกระทำได้ยากเท่านั้น ดังนั้นบางคนจึงเรียกความรู้ประเภทนี้ว่าเป็นความรู้แบบเหนียว (Sticky Knowledge) หรือความรู้แบบฝังอยู่ภายใน (Embedded Knowledge) ส่วนความรู้แบบชัดแจ้งมีการถ่ายโอนและแบ่งปันง่าย จึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ความรู้แบบรั่วไหลได้ง่าย (Leaky Knowledge) ความสัมพันธ์ของความรู้ทั้งสองประเภทเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน (Mutually Constituted) (Tsoukas, 1996) เนื่องจากความรู้แบบฝังลึกเป็นส่วนประกอบของความรู้ทั้งหมด (Grant, 1996) และสามารถแปลงให้เป็นความรู้แบบชัดแจ้งโดยการสื่อสารด้วยคำพูด
ตามรูปแบบของเซซี (SECI Model) (ของ Nonaka และ Takeuchi) ความรู้ทั้งแบบแฝงเร้นและแบบชัดแจ้งจะมีการแปรเปลี่ยนถ่ายทอดไปตามกลไกต่างๆ เช่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถอดความรู้ การผสานความรู้ และการซึมซับความรู้
การจัดการความรู้นั้นมีหลายรูปแบบ มีหลากหลายโมเดล แต่ที่น่าสนใจ คือ การจัดการความรู้ ที่ทำให้คนเคารพศักดิ์ศรีของคนอื่น เป็นรูปแบบการจัดการความรู้ที่เชื่อว่า ทุกคนมีความรู้ปฏิบัติในระดับความชำนาญที่ต่างกัน เคารพความรู้ที่อยู่ในคน เพราะหากถ้าเคารพความรู้ในตำราวิชาการอย่างเดียวนั้น ก็เท่ากับว่าเป็นการมองว่า คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เป็นคนที่ไม่มีความรู้
ระดับของความรู้
หากจำแนกระดับของความรู้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ คือ
  1. ความรู้เชิงทฤษฏี (Know-What) เป็นความรู้เชิงข้อเท็จจริง รู้อะไร เป็นอะไร จะพบในผู้ที่สำเร็จการศึกษามาใหม่ๆ ที่มีความรู้โดยเฉพาะความรู้ที่จำมาได้จากความรู้ชัดแจ้งซึ่งได้จากการได้เรียนมาก แต่เวลาทำงาน ก็จะไม่มั่นใจ มักจะปรึกษารุ่นพี่ก่อน
  2. ความรู้เชิงทฤษฏีและเชิงบริบท (Know-How) เป็นความรู้เชื่อมโยงกับโลกของความเป็นจริง ภายใต้สภาพความเป็นจริงที่ซับซ้อนสามารถนำเอาความรู้ชัดแจ้งที่ได้มาประยุกต์ใช้ตามบริบทของตนเองได้ มักพบในคนที่ทำงานไปหลายๆปี จนเกิดความรู้ฝังลึกที่เป็นทักษะหรือประสบการณ์มากขึ้น
  3. ความรู้ในระดับที่อธิบายเหตุผล (Know-Why) เป็นความรู้เชิงเหตุผลระหว่างเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ผลของประสบการณ์แก้ปัญหาที่ซับซ้อน และนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น เป็นผู้ทำงานมาระยะหนึ่งแล้วเกิดความรู้ฝังลึก สามารถอดความรู้ฝังลึกของตนเองมาแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นหรือถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้พร้อมทั้งรับเอาความรู้จากผู้อื่นไปปรับใช้ในบริบทของตนเองได้
  4. ความรู้ในระดับคุณค่า ความเชื่อ (Care-Why) เป็นความรู้ในลักษณะของความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ที่ขับดันมาจากภายในตนเองจะเป็นผู้ที่สามารถสกัด ประมวล วิเคราะห์ความรู้ที่ตนเองมีอยู่ กับความรู้ที่ตนเองได้รับมาสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาได้ เช่น สร้างตัวแบบหรือทฤษฏีใหม่หรือนวัตกรรม ขึ้นมาใช้ในการทำงานได้
.....
กรอบแนวคิดการจัดการความรู้

ตัวอย่างแผนผังอิชิคะวะ
แผนผังอิชิคะวะ (Ishikawa diagram) หรือแผงผังก้างปลา (หรือในชื่ออื่นของไทยเช่น ตัวแบบทูน่า หรือตัวแบบปลาตะเพียน) เป็นกรอบแนวคิดอย่างง่ายในการจัดการความรู้ โดยให้การจัดการความรู้เปรียบเสมือนปลา ซึ่งประกอบด้วยส่วนหัว ลำตัว และหาง แต่ละส่วนมีหน้าที่ที่ต่างกันดังนี้
  1. ส่วนหัวและตา (Knowledge Vision - KV) มองว่ากำลังจะไปทางไหน ซึ่งต้องตอบให้ได้ว่า "ทำ KM ไปเพื่ออะไร"
  2. ส่วนกลางลำตัว (Knowledge Sharing - KS) ส่วนที่เป็นหัวใจให้ความความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยเหลือ เกื้อกูลกันและกัน
  3. ส่วนหาง (Knowledge Assets - KA) คือ สร้างคลังความรู้ เชื่อมโยงเครือข่าย ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ "สะบัดหาง" สร้างพลังจากชุมชนแนวปฏิบัติ
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ในประเทศไทย ได้พัฒนาตัวแบบทูน่าเป็น "ตัวแบบปลาตะเพียน" โดยมองว่าองค์การมีหน่วยงานย่อย ซึ่งมีความแตกต่างกัน รูปแบบความรู้แต่ละหน่วยจึงต้องปรับให้เหมาะสมกับบริษัทของตน แต่ทั้งฝูงปลาจะหันหน้าไปทิศทางเดียวกัน
กรอบความคิดของ Holsapple Holsapple ได้ทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับพัฒนาการของแนวคิดของการจัดการความรู้ 10 แบบมาประมวล ซึ่งแสดงถึงส่วนประกอบของการจัดการความรู้ (KM elements) เพื่อนำไปจัดระบบเป็นองค์ประกอบหลัก 3 ด้านของการจัดการความรู้ (Three-fold framework) ได้แก่ ทรัพยากรด้านการจัดการความรู้ กิจกรรมการจัดการความรู้ และอิทธิพลของการจัดการความรู้ และให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ให้ข้อคิดเห็น วิจารณ์และข้อเสนอแนะ ได้ผลออกมาเป็นกรอบความร่วมมือ (Collaborative Framework)
การถ่ายทอดความรู้
การถ่ายทอดความรู้ อันเป็นส่วนประกอบของการจัดการองค์ความรู้ ถูกประพฤติปฏิบัติกันมานานแล้ว ตัวอย่างรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ เช่น การอภิปรายของเพื่อนร่วมงานในระหว่างการปฏิบัติงาน, การอบรมพนักงานใหม่อย่างเป็นทางการ, ห้องสมุดขององค์กร, โปรแกรมการฝึกสอนทางอาชีพและการเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งรูปแบบการถ่ายทอดความรู้มีการพัฒนารูปแบบโดยอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่กระจายอย่างกว้างขวางในศตวรรษที่ 20 ก่อให้เกิดเทคโนโลยีฐานความรู้, ระบบผู้เชี่ยวชาญและคลังความรู้ ซึ่งทำให้กระบวนการถ่ายทอดความรู้ง่ายมากขึ้น
การจัดการความรู้ กับการพัฒนาระบบราชการในประเทศไทย
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อผลักดันแนวคิดธรรมาภิบาล (Good Governance) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมขึ้น ในมาตรา ๑๑ กำหนดว่า
ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ในส่วนราชการ เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการให้สอดคล้องกับการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามพระราชกฤษฎีกานี้ จึงเป็นที่มาของการประเมินผลงานหน่วยราชการต่างๆ โดยมีการจัดการความรู้ เป็นข้อหนึ่งด้วย หน่วยราชการไทยจำนวนมากจึงเริ่มสนใจการจัดการความรู้ ด้วยสาเหตุนี้

ธุรกิจอัจฉริยะ (อังกฤษ: Business Intelligence - BI)

            Business Intelligence (BI)หรือระบบธุรกิจอัจฉริยะ เป็นระบบที่ใช้ในการพยากรณ์อนาคตของธุรกิจ ช่วยในการตัดสินใจวางแผนกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุตามเป้าประสงค์ BI เป็นเหมือนฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่เก็บรวบรวมข้อมูลไว้ในลักษณะที่เอื้อต่อการนำข้อมูลไปใช้ในสนับสนุนการตัดสินใจซึ่งจะประกอบไปด้วยระบบข้อมูล และโปรแกรมแอพพลิเคชั่นด้านการวิเคราะห์มากมายหลายระบบ องค์ประกอบสำคัญของ BI ได้แก่ คลังข้อมูล (Data Warehouse) ดาต้ามาร์ท (Data Mart) การทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลหลายมิติ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการนำไปวิเคราะห์และเป็นข้อมูลในการบริหาร สามารถนำข้อมูลที่ได้จากระบบมาใช้เพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงานของบริษัท ในปัจจุบันนี้โปรแกรมทางด้าน Business Intelligence มีให้เลือกหลายโปรแกรมและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น IBM-COGNOS , Oracle
            ปัจจุบันการวางแผนทางกลยุทธ์ของบริษัทนั้นจำเป็นต้องใช้ข้อมูลมากมาย ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูล ทางด้านการตลาด การขาย การเงิน การผลิตนั้นจะต้องทันกับเหตุการณ์ซึ่งมีข้อมูลเกิดขึ้นเป็นประจำทุกวัน การจัดทำรายงาน จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุง และมีความยุ่งยาก ดังนั้นหลายบริษัทจึงได้นำธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence)ซึ่งเป็นกลุ่มของซอฟต์แวร์ (Software) ที่นำข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อจัดทำรายงานในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับมุมมองในการวิเคราะห์ และตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งใช้สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลของงานในมุมมองต่าง ๆ ตามแต่ละแผนก เช่น วิเคราะห์การดำเนินงานของบริษัท เพื่อการตัดสินใจด้านการลงทุนสำหรับผู้บริหาร วิเคราะห์และวางแผนการขาย การตลาด เพื่อประเมินช่องทางการจำหน่าย วิเคราะห์สินค้าที่ทำกำไรสูงสุดขาดทุนต่ำสุด เพื่อการวางแผนงานด้านการตลาดและการผลิต วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อยอดขายของสินค้า วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งขัน ซึ่งผู้ใช้สามารถถามตอบคำถามทางธุรกิจได้หลายมุมมองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วยการตัดสินใจแม่นยำ ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก สามารถดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลที่หลากหลายภายในองค์กรมาทำการวิเคราะห์
การนำระบบธุรกิจอัจฉริยะไปใช้
  • การจัดทำประวัติของลูกค้า
  • การประเมินถึงสภาพของตลาด
  • การจัดกลุ่มของตลาด
  • การจัดลำดับทางด้านเครดิต
  • การเพิ่มความสามารถในกรทำกำไรของผลิตภัณฑ์
  • การจัดการความเคลื่อนไหวของสินค้าคงคลัง
จุดเด่นของ Business Intelligence
  • สามารถดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลที่หลากหลายภายในองค์กรมาทำการวิเคราะห์ เช่น Excel, FoxPro, Dbase, Access โดยไม่มีการเขียนโปรแกรมเพิ่มเติมใดๆ
  • ใช้งานง่ายสะดวกสบาย เพียงแค่คลิกเมาส์ก็สามารถเปลี่ยนแปลงรายงานได้โดยไม่ต้องมีการคีย์ข้อมูลใหม่
วัตถุประสงค์หลักของธุรกิจอัจฉริยะ
  1. ทำให้เจ้าของธุรกิจ ผู้บริหาร หรือพนักงานที่เกียวข้องสามารถเข้าถึงเข้ามูลได้ง่าย ช่วยให้สามารถวิเคราะ์และตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างแม่นยำ
  2.  ธุรกิจอัจฉริยะช่วยเปลี่ยนสภาพ (transform) ข้อมูล (Data) ไปสู่สารสนเทศ (Information) และองค์ความรู้ (Knowledge) สุดท้ายทำให้ผู้ใช้สามารถติดสินทางธุรกิจได้ (Make Business Decision) อย่างชาญฉลาด แล้วนำไปปฏิบัติจนเกิดผล (Take Action)
  3. ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจขององค์กร
  4. ช่วยให้สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคหรือลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กระบวนการหลักของธุรกิจอัจฉริยะ
  1. Decision Support
  2. Query Data
  3. Report
  4. OLAP
  5. Statistical Analysis
  6. Prediction
  7. Data Mining
สถาปัตยกรรมของธุรกิจอัจฉริยะ ประกอบด้วย
  1. คลังข้อมูล (Data Warehouse)
  2. เครื่องมือในการวิเคราะห์ทางธุรกิจ (Business Analytic Tools)
  3. การจัดการสมรรถนะทางธุรกิจ (Business Performance Management)
  4. ส่วนติดต่อประสานงานผู้ใช้ (User Interface)